จริยธรรมในการตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารวิชาการ 

       วารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (DTAJ) เป็นวารสารวิชาการของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) สำหรับการบริหารจัดการ ส่งเสริมแบ่งปัน และแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ ในรูปแบบบทความวิจัย บทความวิชาการ
และบทวิเคราะห์ จากการศึกษา ค้นคว้า วิจัยและพัฒนา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีป้องกันประเทศและอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ

       กองบรรณาธิการ วารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ตระหนักถึงมาตรฐานด้านจริยธรรมการตีพิมพ์ของผู้เขียนบทความ (Authors) ผู้ประเมินบทความ (Reviewers) และบรรณาธิการ (Editor) ที่ต้องถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพื่อให้การตีพิมพ์ถูกต้องตามหลักจริยธรรม โปร่งใส มีคุณภาพสอดคล้องตามมาตรฐาน และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะและผู้เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน จึงได้กำหนดแนวทาง วิธีปฏิบัติ และจริยธรรมของการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงานวิจัยไว้สำหรับการดำเนินงานของวารสาร ดังนี้

จริยธรรมของผู้นิพนธ์ (Author)

       1. ผู้เขียนต้องรับรองว่าบทความที่ส่งมาตีพิมพ์ ต้องไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อนและต้องไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารอื่น หรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด
       2. ผู้เขียนต้องไม่คัดลอกผลงานของผู้อื่นมาเป็นผลงานของตัวเอง หากมีการนำผลงานของผู้อื่นมาใช้ในบทความ
ต้องอ้างอิงผลงานของผู้อื่นโดยจัดทำรายการอ้างอิงให้ถูกต้องครบถ้วนท้ายบทความ
       3. ผู้เขียนต้องรายงานข้อมูลที่ถูกต้อง ไม่บิดเบือนข้อมูล หรือให้ข้อมูลที่เป็นเท็จ
       4. ผู้เขียนต้องเขียนบทความให้ถูกต้องตามรูปแบบที่วารสารกำหนด
       5. ชื่อผู้เขียนที่ปรากฏในบทความ ทั้งผู้เขียนหลักและผู้เขียนร่วม ต้องเป็นผู้มีส่วนร่วมในการดำเนินงานวิจัยตามความเป็นจริง
       6. หากได้รับทุนสนับสนุนการวิจัย ผู้เขียนต้องระบุแหล่งทุนที่สนับสนุนในการวิจัยให้ครบถ้วน
       7. ข้อความและเนื้อหาที่ปรากฏในบทความและองค์ประกอบทั้งหมดของบทความในแต่ละเรื่องเป็นความรับผิดชอบของผู้เขียน หากมีการละเมิดลิขสิทธิ์ ผู้เขียนยินยอมรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว
       8. ผู้เขียนต้องยอมรับผลการพิจารณาของผู้ประเมินบทความและการตัดสินของบรรณาธิการถือเป็นที่สิ้นสุด
       9. ผู้เขียนต้องระบุผลประโยชน์ทับซ้อน (ถ้ามี)

 

จริยธรรมของบรรณาธิการ (Editor)

       1. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่พิจารณาคุณภาพของบทความ โดยพิจารณาจากเนื้อหาของบทความที่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์และขอบเขตของวารสาร

       2. บรรณาธิการวารสารต้องไม่เปิดเผยข้อมูลของผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความแก่ผู้อื่นที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในช่วงระยะเวลาการประเมินบทความ
       3. บรรณาธิการวารสารมีบทบาทในการตัดสินใจคัดเลือกบทความที่มีคุณภาพด้วยหลักทางวิชาการ โดยผ่านกระบวนการประเมินบทความตามขั้นตอนที่วารสารได้กำหนดไว้
       4. บรรณาธิการวารสารต้องไม่ตีพิมพ์บทความที่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่อื่นมาแล้ว
       5. บรรณาธิการวารสารมีหน้าที่ในการตรวจสอบบทความเพื่อให้แน่ใจว่าบทความที่จะตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารไม่มีการคัดลอกผลงานผู้อื่น (Plagiarism) หากตรวจสอบพบ บรรณาธิการวารสารต้องหยุดกระบวนการและติดต่อผู้เขียนบทความทันที เพื่อขอคำชี้แจงประกอบการพิจารณาในการตอบรับหรือปฏิเสธการตีพิมพ์
       6. บรรณาธิการวารสารต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความและผู้ประเมินบทความ หรือบุคคลอื่นที่มีส่วนเกี่ยวข้องในผลประโยชน์จากการเผยแพร่หรือตีพิมพ์บทความ
       7. บรรณาธิการวารสารต้องรักษามาตรฐานของวารสาร รวมทั้งพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของวารสารอย่างต่อเนื่องอยู่เสมอ


จริยธรรมของผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาบทความ (Reviewer)

       1. ผู้ประเมินบทความควรดำเนินการอย่างเป็นกลาง และให้ข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ที่สอดคล้องและเป็นประโยชน์ในด้านคุณภาพแก่ผู้เขียนบทความ
       2. ในช่วงระยะเวลาของการประเมินบทความ ผู้ประเมินบทความต้องเก็บรักษาข้อมูลและไม่เปิดเผยข้อมูลของบทความที่ส่งมาเพื่อพิจารณาแก่บุคคลอื่นที่ไม่เกี่ยวข้อง
       3. ผู้ประเมินบทความต้องไม่มีผลประโยชน์ทับซ้อนกับผู้เขียนบทความ และต้องแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบทันทีหากได้รับบทความที่ตนเองอาจมีส่วนเกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะโดยตรงหรือทางอ้อม
       4. ผู้ประเมินบทความควรประเมินบทความในสาขาวิชาที่ตนมีความเชี่ยวชาญอย่างแท้จริง และสามารถปฏิเสธการประเมินบทความได้ หากพบว่าเนื้อหาบทความไม่ตรงกับสาขาวิชาที่ผู้ประเมินเชี่ยวชาญ
       5. ผู้ประเมินบทความมีบทบาทในการตรวจสอบความซ้ำซ้อนของผลงานจากผู้เขียน หากพบว่าบทความมีการคัดลอก ปลอมแปลง หรือซ้ำซ้อนกับผลงานอื่นๆ ควรแจ้งให้บรรณาธิการวารสารทราบ
       6. ผู้ประเมินบทความต้องไม่แสวงหาผลประโยชน์จากกระบวนการประเมินบทความเพื่อประโยชน์ส่วนตัว
       7. ผู้ประเมินบทความควรดำเนินการประเมินบทความภายในระยะเวลาที่วารสารกำหนด


หลักเกณฑ์การดำเนินงานของกองบรรณาธิการ

       สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีนโยบายที่จะสนับสนุน ส่งเสริมบุคลากร ทั้งภายในและภายนอกสถาบันได้เสนอบทความวิจัยหรือบทความทางวิชาการที่ ได้มาตรฐานสู่สาธารณะชน รวมถึงยกระดับผลงานวิชาการและวิจัยของบุคลากรทั้งภายในและภายนอกสถาบันให้เป็นที่ยอบรมในระดับชาติ โดยกำหนดให้จัดทำวารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ปีละ 3 ฉบับ
       วารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ มีความมุ่งมั่นในการพัฒนาคุณภาพของวารสารอย่างต่อเนื่อง จึงได้กำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินงานของกองบรรณาธิการไว้ดังนี้

หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิในกองบรรณาธิการ

       ผู้ทรงคุณวุฒิในกองบรรณาธิการวารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้ จำนวนอย่างน้อย 3 ข้อ

       1. มีคุณวุฒิการศึกษาในระดับปริญญาเอก
       2. มีตำแหน่งทางวิชาการระดับ ผศ. ขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งบริหารระดับหัวหน้าภาควิชา หรือเทียบเท่าขึ้นไป ถ้าตำแหน่งทางวิชาการระดับ ศ. จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกเป็นลำดับแรก
       3. มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ ไม่น้อยกว่า 5 ฉบับ
       4. มีประสบการณ์ประเมินบทความในวารสารวิชาการ
       5. มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาและประเมินบทความ

       ผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาและประเมินบทความเพื่อลงตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ต้องเป็นผู้มีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้จำนวนอย่างน้อย 3 ข้อ

       1. มีคุณวุฒิการศึกษาตั้งแต่ระดับปริญญาเอก
       2. มีตำแหน่งทางวิชาการระดับ ผศ. ขึ้นไป หรือดำรงตำแหน่งบริหารระดับหัวหน้าภาควิชา หรือเทียบเท่าขึ้นไป
       3. มีผลงานตีพิมพ์ในวารสารวิชาการหรือนำเสนอในงานประชุมวิชาการระดับชาติหรือนานาชาติ อย่างน้อย 2 ฉบับขึ้นไป
       4. มีประสบการณ์ประเมินบทความในวารสารวิชาการ
       5. มีประสบการณ์การทำงานที่เกี่ยวข้องจะได้รับการพิจารณาเป็นกรณีพิเศษ

หลักเกณฑ์การประเมินบทความสำหรับผู้ประเมินบทความ

       บทความที่ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

       1. มีความชัดเจนของปัญหาและวัตถุประสงค์
       2. มีความริเริ่มหรือเป็นการต่อยอดทางวิชาการ
       3. มีความเหมาะสมของวิธีการที่ใช้ในการแก้ปัญหา
       4. มีการใช้ภาษาถูกต้องตามหลักภาษาและไวยากรณ์
       5. มีความถูกต้องของการวิเคราะห์และสรุปผล
       6. บทความโดยรวมมีคุณภาพในระดับที่เหมาะสม
       7. มีประโยชน์ต่อวงการวิชาการ การทหาร หรือการพัฒนาประเทศ
       8. บทความต้องไม่เคยถูกเผยแพร่หรือลงตีพิมพ์ในแหล่งอื่นๆ
       9. ไม่มีส่วนหนึ่งส่วนใดของบทความที่เป็นการคัดลอกข้อความที่เขียนโดยผู้อื่นโดยไม่มีการอ้างอิงถึงต้นฉบับ

หลักเกณฑ์การพิจารณากลั่นกรองบทความ

       1. บทความจะผ่านขั้นตอนการประเมินเบื้องต้นถึงคุณภาพและขอบเขตของเนื้อหา ความถูกต้องของรูปแบบการเตรียมบทความ ความซ้ำซ้อน และการคัดลอกวรรณกรรม (duplication and plagiarism) บทความที่จะได้รับการตีพิมพ์ ต้องไม่เคยตีพิมพ์เผยแพร่ที่ใดมาก่อน และต้องไม่อยู่ในกระบวนการพิจารณาลงตีพิมพ์ในวารสารหรือสิ่งตีพิมพ์อื่นใด
       2. บทความที่จะได้รับการตีพิมพ์ ต้องเป็นบทความที่แสดงให้เห็นถึงคุณภาพทางวิชาการ และมีประโยชน์ในเชิงทฤษฎีหรือเชิงปฏิบัติ โดยผ่านการพิจารณา และให้ความเห็นชอบแบบปกปิดรายชื่อจากผู้ทรงคุณวุฒิ (double-blinded peer reviews) ซึ่งต้องมีคุณสมบัติอย่างต่ำตามเกณฑ์มาตรฐาน คือเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขานั้นๆ ทำงานวิจัยและมีผลงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง จำนวนอย่างน้อย 2 ท่านขึ้นไปต่อบทความ และ/หรือ ผ่านการพิจารณาจากกองบรรณาธิการเป็นรายกรณี โดยบทความที่ผ่านการปรับปรุงตามผลการประเมินจะได้รับพิจารณาอนุมัติให้ตีพิมพ์บทความ ขั้นตอนสุดท้าย กองบรรณาธิการจะดำเนินการตรวจสอบบทความและพิสูจน์อักษรก่อนที่จะเผยแพร่บทความรอตีพิมพ์ (in press articles) แบบออนไลน์ลงในเว็บไซต์ของวารสารฯ และจัดพิมพ์บทความทั้งหมดรวมเล่มเพื่อดำเนินการเผยแพร่ต่อไป
       3. การยอมรับเรื่องที่จะตีพิมพ์เป็นสิทธิ์ของกองบรรณาธิการ และกองบรรณาธิการจะไม่รับผิดชอบในเนื้อหาหรือความถูกต้องของเรื่องที่ส่งมาตีพิมพ์ทุกเรื่อง ผลงานวิจัยและผลงานทางวิชาการที่ปรากฏเผยแพร่ในวารสารฯ เป็นความคิดเห็นอิสระของผู้แต่ง โดยผู้แต่งเป็นผู้รับผิดชอบต่อผลทางกฎหมายใด ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นจากบทความเผยแพร่นั้น ซึ่งกองบรรณาธิการและคณะผู้จัดทำวารสารฯ ไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยเสมอไป